วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เบาหวาน โดยนางสาวภัศรา นวลคำ 5305110055

บทนำ
โรคเบาหวานถือว่าเป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่ง  จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่าคนไทยเป็นโรคเบาหวานถึงร้อยละ 6 (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552) เนื่องจากเป็นโรคที่เรื้อรังรักษาไม่หายขาดแต่ก็สามารถรักษาให้อาการทุเลาเป็นปกติได้  และในวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก (นพ.สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ, 2553) ซึ่งทั่วโลกจะได้จัดกิจกรรมส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้  ช่วยหาทางป้องกันและควบคุมโรคให้ลดความพิการและสูญเสียลง
เบาหวานมีชื่อเรียกภาษาอังกฤษว่า  Diabetes  mellitus (DM) ได้ชื่อว่าเป็น”ภัยเงียบ”หรือเพฌชฆาตมืด (Silent  killer) (นพ.สุรเกียรติ  อาชานานุภาพ, 2553) เพราะเป็นโรคที่ไม่ปรากฏอาการ  ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวานมีหลายประการ  อาทิ  พันธุกรรม  ความอ้วน  ความชรา  การตั้งครรภ์  ผลจากการใช้ยาบางชนิด  และจุดประสงค์ของการป้องกันรักษาเบาหวานทางการแพทย์  คือ  ป้องกันไม่ให้ติดโรคนี้  ต้องการให้ผู้ป่วยปราศจากอาการของโรค  ไม่มีผลแทรกซ้อนจากการรักษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยา)  พยายามไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อนจากเบาหวาน  และสุดท้ายคือให้ผู้ป่วยมีชีวิตเป็นปกติสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ
ความเข้าใจและรับรู้ผลแทรกซ้อนต่างๆของโรคเบาหวาน  ตลอดจนมีความรู้  สามารถจะมีบทบาทดูแลตนเองหรือมีส่วนร่วมในการรักษาเบาหวานกับบุคลากรทางการแพทย์  จะช่วยป้องกันหรือตรวจพบโรคแทรกซ้อน  หรือปัญหาต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานเสียแต่เนิ่นๆ  ทำให้ป้องกันหรือยับยั้งไม่ให้ลุกลามใหญ่โตต่อไป
อาการของโรคเบาหวาน
อาการสำคัญที่พบบ่อย
อาการสำคัญของผู้ป่วยเบาหวานที่มักพบบ่อยๆคือ
1.ปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก
เนื่องจากกระบวนการกรองน้ำตาลในเลือดที่สูงออกมามากทางปัสสาวะโดยไตนี้จำเป็นต้องดึงออกมาด้วย  ดังนั้นผู้ป่วยยิ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากเท่าใดก็ยิ่งปัสสาวะบ่อยและมากขึ้นเท่านั้น  ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนหลายๆครั้ง (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552)
2.คอแห้ง  กระหายน้ำ  และดื่มน้ำมาก
เป็นผลจากการที่ร่างกายเสียน้ำไปจากปัสสาวะบ่อยและมาก  ทำให้เกิดภาวะขาดน้ำจึงต้องชดเชยด้วยการดื่มน้ำบ่อยๆ
3.น้ำหนักลด ผอมลง
เนื่องจากมลภาวะที่ขาดอินซูลินร่างกายไม่สามารนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงานได้ร่วมกับการขาดงานจากปัสสาวะบ่อยร่างกายจึงจำเป็นต้องนำเอาโปรตีนและไขมันที่เก็บสะสมไว้ในเนื้อเยื่อมาใช้แทน  จึงทำให้รู้สึกอ่อนเพลียและน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
4.หิวบ่อยและรับประทานจุ
เนื่องจากร่างกายขาดพลังงานจึงทำให้รู้สึกหิวบ่อยและรับประทานจุ  
ผู้ที่มีอาการบางอย่างดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดให้แน่ใจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่  สำหรับบุคคลทั่วไปก็ควรได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกปีจะทำให้ตรวจพบการเกิดโรคได้ก่อนที่จะมีอาการปรากฏ  ซึ่งจะดูแลรักษาได้ง่ายกว่าการตรวจพบเมื่ออาการปรากฏแล้ว

โรคเบาหวานที่สำคัญ
โรคเบาหวานที่สำคัญมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้น คือ
โรคเบาหวานประเภทที่ 1 (เดิมเรียกว่า เบาหวานชนิดต้องพึ่งอินซูลิน  Insulin-dependent diabetes  mellitus/DDM)  เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้  ถ้าเป็นชนิดนี้ร่างกายก็ไม่สามารถจะนำน้ำตาลเข้าไปในเนื้อเยื่อเพื่อเผาผลาญให้เกิดพลังงานได้  ถ้าเป็นชนิดนี้ร่างกายจะขาดอินซูลินอย่างถาวร  ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินและต้องฉีดทุกวันไปตลอกชีวิต  ถ้าขาดเมื่อไหร่จะเกิดอาการคีโตส  คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงมากจนถึงขีดอันตราย             (ศาสตราจารย์ นพ.สาธิต  วรรณแสง, 2550)
โรคเบาหวานประเภทที่ 2 (เดิมเรียกว่าเบาหวานชนิดไม่ต้องพึ่งอินซูลิน Non-insulin-dependent diabetes mellitus/NIDDM) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย   นอกจากนี้กรรมพันธุ์ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคอย่างมาก  ผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวโดยเฉพาะมีญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวาน ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวานชนิดนี้ได้มากด้วย  และพบได้มากกว่าชนิดแรกคือประมาณร้อยล่ะ 90 – 95 ของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดจะเป็นชนิดนี้  ส่วนใหญ่พบในผู้ใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไป  แต่นานๆครั้งก็พบในเด็กได้เหมือนกัน  (ศาสตราจารย์ นพ.สาธิต  วรรณแสง, 2550)

วิธีการรักษาโรคเหวาน
การดูแลรักษาตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด  และมีความสำคัญมากกว่าการกินยาฉีดยา  หรือหาหมอหลายเท่า
ดูแลรักษาตัวเองอย่างไร?  มีหลักใหญ่ดังต่อไปนี้
1.การควบคุมอาหาร
2.การออกกำลังกาย
3. การใช้ยารักษา
4. การติดตามผลการรักษา
5. การดูแลรักษาเท้า
6. การทำบันทึกประจำวัน
7. อย่าเชื่อโฆษณา
(ศาสตราจารย์ นพ.สาธิต  วรรณแสง, 2550)

การควบคุมอาหาร
อาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำหนักเกิน (อ้วน)
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำหนักเกิน (อ้วน)   ควรควบคุมอาหาร ดังนี้
1.หยุดดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
2.งดการเติมน้ำตาลทุกชนิด รวมทั้งน้ำผึ้งในอาหาร แต่ถ้าชอบหวานให้ใช้น้ำตาลเทียมแทนได้
3.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า
4.ลดการกินผลไม้ลงเหลือประมาณ 6-8 คำต่อมื้ออาหาร (สามารถกินหลังอาหารทั้ง 3 มื้อ) ถ้าผลไม้หวานมากให้กินประมาณ 6 คำ ถ้าหวานน้อยให้กินประมาณ 8 คำ
5.ลดอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ลงจากที่เคยกินประมาณ 1 ใน 3 โดยให้กินผักเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่ากันกับที่ลดอาหารจำพวกแป้งลง  แต่ละมื้อควรกินข้าวไม่เกิน 2 ทัพพี (ไม่พูน)
6. กับข้าวที่เป็นเนื้อสัตว์ที่สุกแล้วให้กิน  โดยลอกหนังออกก่อนและติดมันน้อยที่สุด  ควรกินไม่เกินมื้อละ 4 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 60 กรัม)
7.หลีกเลี่ยงอาหารทอดทุกชนิด  โดยเฉพาะชุบแป้งทอด เช่น กล้วยแขก ไก่ทอด ปอเปี๊ยะทอด
8.ควรทำกับข้าวด้วยวิธี ต้ม นึ่ง ย่าง
9.ถ้าจำเป็นต้องผัดให้ใช้น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม) และพยายามใช้ปริมาณน้ำมันน้อยที่สุด
10.อาหารที่ปรุงด้วยกะทิให้กินแต่น้อย
11.เมื่อพยายามควบคุมอาหารแล้วมีอาการใจสั่น  ควรปรึกษาแพทย์เพราะอาจเป็นอาการแสดงของภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปก็ได้
12.ถ้ามีเหตุจำเป็น  ไม่สามารถกินอาหารได้ตรงตามเวลา  ควรกินของว่างหรือผลไม้ประมาณ 6-8 คำก่อน หลังจากมีโอกาสว่างแล้วให้รีบกินอาหารในปริมาณตามปกติ แต่ให้งดผลไม้หลังอาหาร
13.ในการออกกำลังกายไม่ควรกินอาหาร  หรือดื่มน้ำหวาน  หรือน้ำผลไม้เพิ่มจากปกติ

อาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักพอดี (ตามมาตรฐาน)
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำหนักตัวพอดี (คามมาตรฐาน) ควรควบคุมอาหารดังนี้
1.หยุดดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ และเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
2.งดการเติมน้ำตาลทุกชนิดรวมทั้งน้ำผึ้งในอาหาร  แต่ถ้าชอบหวานให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน
3.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ ยาดองเหล้า
4.ลดการกินผลไม้ลงเหลือประมาณ 6-8 คำต่อมื้ออาหาร (สามารถกินหลังอาหารสามมื้อ)
5.ให้กินอาหารจำพวกแป้งเช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ในปริมาณเท่าเดิม แต่ละมื้อควรกินข้าวไม่เกิน 3-4 ทัพพีไม่พูน  
6.กับข้าวที่เป็นเนื้อสัตว์ที่สุกแล้ว ให้กินโดยลอกหนังออกก่อนและให้ติดมันน้อยที่สุด ควรกินไม่น้อยกว่ามื้อละ 4 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 60 กรัม)
7.หลีกเลี่ยงอาหารทอดทุกชนิด  โดยเฉพาะที่ชุบแป้งทอด เช่น กล้วยทอด ไก่ทอด ปอเปี๊ยะทอด
8.ถ้าจำเป็นต้องผัดให้ใช้น้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม)
9.ควรทำกับข้าวด้วยวิธี ต้ม นึ่ง ย่าง
10.อาหารที่ปรุงด้วยกะทิให้กินแต่น้อย
11.ในการออกำลังกายไม่ควรกินอาหาร  หรือดื่มน้ำหวาน หรือผลไม้ เพิ่มจากปกติ
12.ถ้ามีเหตุจำเป็น  ไม่สามารถกินอาหารได้ตรงตามเวลา  ควรกินของว่างหรือผลไม้ประมาณ 6-8 คำก่อน หลังจากมีโอกาสว่างแล้วให้รีบกินอาหารในปริมาณตามปกติ แต่ให้งดผลไม้หลังอาหาร

อาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน (ผอม)
ผู้ป่วยเบาหวานที่มีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน (ผอม) ควรควบคุมอาหาร ดังนี้
1.หยุดดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง
2.งดการเติมน้ำตาลทุกชนิดรวมทั้งน้ำผึ้งในอาหาร แต่ถ้าชอบหวานให้ใช้น้ำตาลเทียมแทน
3.ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สมอยู่ เช่น เหล้า เบียร์ ยาดองเหล้า
4.ลดการกินผลไม้ลงเหลือประมาณ 6-8 คำต่อมื้ออาหาร (สามารถกินหลังอาหารสามมื้อ)
5.ให้กินอาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยวเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 ใน 3 ส่วน  โดยไม่ต้องลดปริมาณที่กิน แต่ละมื้ออาจกินข้าวได้ถึง 4 – 5 ทัพพีไม่พูน
6.กับข้าวที่เป็นเนื้อสัตว์ที่สุกแล้วให้กินไม่น้อยกว่ามื้อละ 4 ช้อนโต๊ะ (ประมาณ 60 กรัม)
7.กินอาหารทอดได้บ้างแต่ควรเป็นอาหารทอดที่ทอดด้วยน้ำมันพืช (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว)
8.ควรทำกับข้าวด้วยวิธี ต้ม นึ่ง ย่าง
9.ถ้าจำเป็นต้องผัดให้ใช้น้ำมันพืชแทน (ยกเว้นน้ำมันปาล์ม)
10.อาหารที่ปรุงด้วยกะทิให้กินแต่น้อย
11.ในการออกกำลังกายไม่ควรกินอาหาร หรือดื่มน้ำหวาน น้ำผลไม้เพิ่มจากปกติ
12. ถ้ามีเหตุจำเป็น  ไม่สามารถกินอาหารได้ตรงตามเวลา  ควรกินของว่างหรือผลไม้ประมาณ 6-8 คำก่อน หลังจากมีโอกาสว่างแล้วให้รีบกินอาหารในปริมาณตามปกติ แต่ให้งดผลไม้หลังอาหาร
สำหรับเรื่องอาหารว่าง จำเป็นเฉพาะผู้ป่วยที่ฉีดอินซูลินเท่านั้นคือ อาจกินได้ 1 ครั้งคือ เช่นตอนบ่ายๆ อาจดื่มนมจืด หรือกินอาหารว่างมาแสลงโรค
การควบคุมอาหารขณะฉีดอินซูลิน  อาหารทุกชนิด โดยเฉพาะพวกแป้ง หรือข้าว และน้ำตาล จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

การออกกำลังกาย
คนที่เป็นเบาหวานจำเป็นต้องออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยให้
1.น้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ที่ควรเป็น
2.ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง
3.เลือดในร่างกายไหลเวียนดีขึ้น
4.จิตใจร่าเริง แจ่มใส คลายเครียด
5.ป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ
6.มีอายุยืน มีความสุข
คนที่เป็นเบาหวานอย่านั่งๆ นอนๆ อยู่เฉยๆ ควรออกกำลังกาย หรือแรงงานทำให้ได้เหงื่อเป็นประจำ

การออกกำลังกายที่จะมีระโยชน์ต่อร่างกาย มีหลักว่า
1.จะต้องออกแรงจนรู้สึกใจเต้นแรงและมีเหงื่อ (แต่ไม่ให้เหนื่อยจนเกินไปจนจุกหรือแน่นจนพูดไม่ออก)
2.แต่ละครั้งทำติดต่อกันอย่างน้อย 15 – 20 นาที
3.ทำวันละครั้งหรืออย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์และไม่ควรหยุดออกกำลังกายนานติดต่อกันเกิน 2 วัน
(ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552)

ข้อควรระวังในการออกกำลังกายของผู้ป่วยเบาหวาน
1.สำหรับผู้ที่เริ่มออกกำลังกาย ควรเริ่มทีละน้อยตามกำลังของตนเองก่อน  อย่าให้หักโหมหรือเหนื่อยเกินไป  แล้วค่อยๆเพิ่มขึ้นทีละน้อย
2.ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นมานาน  หรือมีโรคแทรกซ้อน  หรือเป็นผู้สู.อายุ ก่อนจะเริ่มการออกกำลังกายควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
3.ในการออกกำลังกายที่ไม่นานเกิน 1 ชั่วโมง  ไม่ควรกินอาหารหรือดื่มน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้เพิ่มจากปกติ  ยกเว้นผู้ป่วยเบาหวานที่ผอมหรือฉีดอินซูลินอยู่  ให้กินอาหารว่าง เช่น ขนมปัง 1 -2 แผ่น  หรือนมจืด 1 แก้ว หรือผลไม้ (เช่นกล้วยน้ำหว้า 1 ผล) ก่อนออกกำลังกาย
4.ในการออกกำลังกายควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
5.ในขณะออกกำลังกาย มีความรู้สึกผิดปกติ เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด จุกแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก  รู้สึกเหนื่อยผิดปกติ  ให้นั่งพักทันทีและดื่มน้ำหวาน 1 แก้ว แล้วควรรีบไปพบแพทย์
6.ควรออกกำลังกายในสถานที่ที่ปลอดภัย (เช่น ในบริเวณบ้าน  สนามกว้าง ห่างจากถนน หรือ ในที่ที่มีรถสัญจรไปมา  และควรมีผู้อื่นอยู่ด้วย                                                                                                                             (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552)

ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด
อินซูลิน
อินซูลินใช้รักษาโรคเบาหวานในกรณีดังต่อไปนี้
1.เบาหวานประเภทที่ 1
2.เบาหวานประเภทที่ 2 ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการควบคุมอาหาร  การออกกำลังกาย  การรับประทานยา
อินซูลิต้องใช้โดยการฉีดเท่านั้น  ไม่สามารถรับประทานได้ทางปากโดยทั่วไปจะมีอินซูลิน 100 ยูนิตต่อ 1 มิลลิลิตร (ซีซี)  ของน้ำยาซึ่งเรียกว่า ยู 100 อินซูลิน (U 100 insulin) แหล่งที่มาของอินซูลินมี 2 แหล่งคือ ได้มาจากการสกัดตับอ่อนของหมูและวัว ส่วนอีกแหล่งได้มาจากการสังเคราะห์โดยวิธีทางพันธุวิศวกรรม (genetic  engineering) ทำให้ได้อินซูลินที่เหมือนอินซูลินของมนุษย์  ซึ่งนิยมใช้กันในปัจจุบัน
อินซูลินที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันมีราคาแตกต่างกันตามความบริสุทธิ์ของอินซูลินในผลิตภัณฑ์นั้นซึ่งก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิต  อินซูลินที่บริสุทธิ์ปราศจากสารปนเปื้อนจะมีราคาแพง  แต่ผู้ใช้มีโอกาสเกิดอาการแพ้และเกิดแอนติบอดี (antibody) น้อยกว่า  ซึ่งเกิดการแอนติบอดีเป็นสาเหตุทำให้ต้องเพิ่มขนาดยาอินซูลินเมื่อใช้ไปได้ระยะหนึ่ง

ชนิดของอินซูลิน
ชนิดของอินซูลินจำแนกตามการออกฤทธิ์ของอินซูลินได้เป็น 4 ชนิด คือ
1.ชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก (rapid-acting insulin) เมื่อฉีดเข้าไปใต้ผิวหนังจะออกฤทธิ์ในเวลา 10 -15 นาที  ออกฤทธิ์สูงสุดที่ 5 – 7 ชั่วโมง  อินซูลินชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นน้ำใสซึ่งมักเรียกง่ายๆว่า อินซูลินชนิดน้ำใส  ใช้เมื่อต้องการฉีดลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานอาหารมื้อนั้นๆ  มีจำหน่ายในชื่อการค้าต่างๆ เช่น  ฮิวมาล็อค (Humalog) โนโวแรปิด (Novorapid) เป็นต้น
2.ชนิดอออกฤทธิ์เร็วและสั้น (Shot-insulin) เมื่อฉีดเข้าใต้ผิวหนังจะออกฤทธิ์เวลา 30-60 นาที ออกฤทธิ์สูงสุดในเวลา 5-7 ชั่วโมง  อินซูลินชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นน้ำใสเช่นเดียวกับชนิดออกฤทธิ์เร็วมาก  ใช้ฉีดก่อนอาหารครึ่งชั่วโมงเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลหลังอาหาร  และฉีดเมื่อต้องการลดระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากหรือมีภาวะกรดคั่งในเลือดจากสรคีโทน  มีจำหน่ายในชื่อการต่างๆ เช่น เรกูลาร์ (Ragular insulin)  แอกทราพิด (Actrapid  insulin)  ฮิวมูลินอาร์  (Humulin R)
3.ชนิดออกฤทธิ์ปานกลาง (intermediate-acting insulin)  อินซูลินชนิดนี้จะเริ่มออกฤทธิ์หลังฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง 2 – 4 ชั่วโมง ออกฤทธิ์สูงสุดในเวลา 6 – 12 ชั่วโมง  และมีฤทธิ์อยู่นาน 18 – 24 ชั่วโมง  อินซูลินชนิดนี้มีลักษณะขุ่นขาวจึงเรียกง่ายๆว่าอินซูลินชนิดน้ำขุ่น  ใช้เป็นอินซูลินหลักในการรักษาโรคเบาหวาน  สามารถฉีดได้วันละ 1 -2 ครั้ง  มีจำหน่ายในชื่อการค้าต่างๆ เช่น เอ็นพีเอช (NPH)  เลนทาร์ด (Lentard)  โมโนทาร์ด (MOnotard)  โพรทาเพน (Protaphane)  ฮิวมูลินเอ็น (Humulin N)  เป็นต้น
4.ชนิดออกฤทธิ์ยาว (Long-acting insulin)  ภายหลังฉีดเข้าใต้ผิวหนังอินซูลินชนิดนี้ใช้เวลา 2 ชั่วโมง จึงเริ่มออกฤทธิ์  ไม่มีฤทธิ์สูงสุด  และมีฤทธิ์นาน 24 ชั่วโมง  อินซูลินชนิดนี้มีลักษณะเป็นน้ำใส  ใช้สำหรับฉีดเพื่อให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้นในปริมาณหนึ่งตลอดทั้งวันและป้องกันไม่ให้เกิดน้ำตาลในเลือดต่ำได้  เนื่องจากไม่มีฤทธิ์สูงสุด
นอกจากนี้  ยังมีอินซูลินชนิดผสม ซึ่งนำเอาอินซูลินชนิดออกฤทธิ์ปานกลางในอัตราส่วนต่างๆ ได้แก่ แอกทราเฟน (Actraphane) (เป็นเอกทราพิด 30% + โพรทาเพน 70%) ฮิวมูลินเอ็น/อาร์ (Humulin N/R) ซึ่งมีอัตราส่วนของอินซูลินชนิดออกฤทธิ์สั้น 70/30, 80/20, 60,40 และอินซูลินชนิดบรรจุพิเศษซึ่งจะใช้กับอุปกรณ์ฉีดอินซูลินที่มีลักษณะเหมือนปากกาและพกพาด้สะดวก  ได้แก่ อุปกรณ์โนโวเพ็น (Novp Pen) บีดีเพ็น (BD Pen) ฮิวมาเพ็น (Humapen) เป็นต้น (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552)

การฉีดอินซูลิน
การฉีดอินซูลินจะฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขน  ขา  หน้าขา  หน้าท้อง  หรือสะโพก  อัตราการดูดซึมของอินซูลินเข้าสู่กระแสเลือดในบริเวณต่างๆจะมีความเร็วต่างกันเรียงจากมากไปหาน้อย  ดังนี้
หน้าท้อง  >  ต้นแขน  >  หน้าขา  >  สะโพก
ปัจจุบันแพทย์แนะนำให้ฉีดอินซูลินเข้า  บริเวณหน้าท้อง  เป็นส่วนใหญ่  เนื่องขากสามารถดูดซึมยาได้ดีในอัตราที่สม่ำเสมอ  และมีชั้นไขมันหนาผู้ป่วยจะเจ็บน้อยที่สุด (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552)

ยารับประทานผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 โดยเฉพาะในคนอ้วน  การควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักรวมทั้งการออกกำลังกายจะสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้  และทำให้ผู้ป่วยบางคนสามรถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ใกล้เคียงกับคนปกติโดยไม่ต้องใช้ยารับประทาน  แต่หากควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ด้วยการควบคุมอาหารและออกกำลังกายก็จำเป็นต้องใช้ยารับประทานเข้าช่วย  แต่ควรพึงระลึกไว้เสมอว่า  ยารับประทานไม่ใช้อินซูลิน  และยารับประทานไม่สามารถรักษาโรคเบาหวานให้หายขาดได้

ยาลดระดับน้ำตาลในเลือดชนิดรับประทานมร 3 กลุ่ม คือ
1.ยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylurea)
2.ยากลุ่มไปกัวไนด์  (biguanide)
3.ยาต้านแอลฟากลูโคสิเดส
4.ยาเพิ่มความไวต่ออินซูลิน (insulin  sensitizer)

กลุ่มยาซัลโฟนิลยูเรีย

ยาในกลุ่มนี้รุ่นแรก (first  generation)  ได้แก่ acetohexammide , Chlorpropamide, tolazamind, และ tolbutamind ในปัจจุบันถูกทดแทนด้วยยาในรุ่นที่สอง (secondary  generation)  ซึ่งใช้ในขนาดน้อยมาก  มีคุณสมบัติทางเภสัชจลศาสตร์ที่ดีกว่า  มีการจับกับโปรตีน ในเลือดที่แตกต่างออกไปทำให้มีปฏิกิริยาระหง่าวยาน้อยกว่า  มีผลข้างเคียงลดน้อยลง  แต่ประสิทธิภาพในการลดระดับน้ำตาลในเลือดไม่ต่างกัน (รองศาสตราจารย์ ภญ.ดร.จุราภรณ์  พงศ์เวชรัตน์, 2553)

ยากลุ่มไบกัวไนด์
ยากลุ่มนี้มีใช้รักษาแพร่หลายในทวีปยุโรปมานานกว่า 25 ปีแล้ว  ยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์โดยเพิ่มการใช้น้ำตาลกลูโคสสร้างกล้ามเนื้อต่างๆลดการดูดซึมกลูโคสจากลำไส้  และลดการสร้างกลูโคสจากตับแต่ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้น  จึงลดน้ำตาลในเลือดลงได้ไม่มาก  นิยสใช้เป็นยาตัวที่สองร่วมกันกับยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย  ในกรณีที่ใช้ยาในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรียตัวเดียวในขนาดสูงสุดแล้วยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้  มักจะใช้กับผู้ป่วยค่อนข้างอ้วนเพราะยากลุ่มนี้จะทำให้ความอยากอาหารลดลง ดังนั้น
ยากลุ่มนี้อาจใช้เดี่ยวๆได้ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานที่อ้วนและมีระดับน้ำตาลไม่สูงมาก  เพราะยานี้จะทำให้รับประทานอาหารน้อยลง  น้ำหนักตัวจะลดลง  มีผลให้ระดับน้ำตาลลดลงได้ด้วย
ยาต้านแอลฟาลูโคซิเดส
ยาต้านแอลฟาลูโคสิเดสเนยาที่พัฒนาใหม่เพื่อใช้ลดระดับน้ำตาลในเลือด  ยากลุ่มนี่จะออกฤทธิ์เฉพาะในลำไส้โดยการจับกับเอนไซม์แอลฟากลูโคลูซิเดส  ซึ่งทำหน้าที่ยิยสลายสารอาหารจำพวกแป้งให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็กเพื่อร่างกายจะได้ดูดซึมนำไปใช้  เมื่อยาจับกับเอนไซม์แอลฟากลูโคสิเดสจึงทำให้การย่อยสารอาหารจำพวกแป้งน้อยลง  การดูดซึมน้ำตาลจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดก็จะน้อยลงด้วย  ระดับน้ำตาลในเลือดจึงไม่สูง  ดังนั้นเพื่อให้เกิดประสิทธิ์ภาพสูงสุดจึงต้องรับประทานยานี้พร้อมกับอาหาร  ปัจจุบันยาในกลุ่มนี้มีขายในประเทศไทยแล้ว 2 ชนิด คือ อะคาร์โบส (acarbose) มีชื่อการค้าว่า กลูโคเบย์ (Glucobay) และโวกลิโบส (Voglibose)  มีชื่อทางการค้าว่าเบเซน (Besen) 
           
ยาเพิ่มความไวอินซูลิน
ยาเพิ่มความไวต่ออินซูลินเป็นพัฒนาการใหม่ล่าสุดของยารักษาโรคเบาหวานชนิดรับประทาน  แม้ว่าเก่าบางชนิด เช่น เมตฟอร์มิน ก็มีฤทธิ์ในการเพิ่มความไวของอินซูลินด้วย  ยาใหม่ในกลุ่มนี้คือกลุ่มไทเอโซลิดีนไดโอน (thaiazolidiindione) ซึ่งปัจจุบันมีใช้แล้ว 2 ชนิด คือ
                1.ยาโรสิกลิตาโซน (rosiglitazone) เช่น ยาอะแวนเดีย (Avandia) เป็นต้น
                2.ยาไพโอกลิตาโซน (pioglitazone) เช่น ยาแอกทอส (Actos) เป็นต้น
ก่อนหน้านี้มียาอีกกลุ่มหนึ่ง  ชื่อว่าโทรกลิตาโซน (troglitazone) แต่ปัจจุบันถูกเพิกถอน  ห้ามใช้ในผู้ป่วย  เนื่องจากมีพิษต่อตับ
โดยมีกลไก คือ ยาจะไปกระตุ้นให้เซลล์ของร่างกายสร้างสารที่ช่วยให้เซลล์มีความไวต่ออินซูลินมากขึ้น  จึงเพิ่มการนำน้ำตาลและไขมันเข้าเซลล์
ภาวะดื้อต่ออินซูลินมีผลกระทบต่อการเผาผลาญไขมันด้วย  จึงพบว่าผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินจะมีระดับไขมันในโลหิตสูงขึ้น  รวมทั้งสารต่างๆที่ทำให้หลอดเลือดแข็งตัวซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด  ดังนั้นยาที่จะช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินอาจมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ดีกว่ายาในกลุ่มอื่นๆที่ใช้รักษาเบาหวาน  (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552)

โรคแทรกซ้อน
-ความดันเลือดสูง
ถ้าไม่สบายหรือปวดหัว  ควรตรวจวัดความดันเลือดทุกครั้งเพราะผู้ป่วยเบาหวานมีโอกาสเป็นความดันเลือดสูงมากกว่าธรรมดา  บางครั้งไม่มีอาการอะไรเลย  ต้องตรวจถึงจะพบ  (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ และคณะ, 2552)
                -โรคแทรกซ้อนของไต
มักพบในคนที่เป็นเบาหวานนานเกิน 10 ปีขึ้นไปอาการเริ่มต้นอาจมีเท้าบวมที่เท้าหรือขา  ถ้าเป็นมากขึ้นจะซีดและความดันเลือดสูง  ในระยะแรกๆตรวจพบไข่ขาวออกมาในปัสสาวะ  ผู้ที่เป็นเบาหวานมานานเกิน 5 ปีขึ้นไป  ควรตรวจปัสสาวะหาไข่ขาวอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง  อาจพบความผิดปกตินี้ได้ก่อนที่ไตจะเสีย
            -คัน
คันบริเวณช่องคลอด  อาจเป็นเชื้อรา
ถ้าคันตามตัว  แต่ไม่มีผื่นหรือผิวหนังผิดปกติ  อาจเป็นเพราะเบาหวานกำเริบ  น้ำตาลสูง  อาจมีฝีอักเสบตามผิวหนังได้ง่ายและหายยากหรือเกิดฝีฟักบัวขึ้น  (ศาตราจารย์ นพ.สาธิต  วรรณแสง, 2550)
                -โรคแทรกซ้อนทางเส้นเลือดใหญ่
เบาหวานเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดเส้นเลือดแข็ง Atheroselerosis  และนำไปสู่การเสียชีวิตมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเบาหวาน  ฝดรคแทรกซ้อนเหล่านี้ที่พบมากที่สุดคือ  โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ (Cardiovascular  disease)  ที่เหลือคือเส้นเลือดในสมองตีบ  (Cerebrovascular  disease)  และเส้นเลือดส่วนปลายตีบ (Periphral vascular disease)  การควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีลดการเกิดโรคแทรกซ้อนทางเส้นเลือดฝอยได้ดีแต่ลดโรคแทรกซ้อนทางเส้นเลือดใหญ่ได้ไม่มากนัก  ชี้ให้เห็นว่ามีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนนี้อยู่ เช่น การสูบบุหรี่ ความดันโลหิตสูง  และไขมันในโลหิตสูง  ดังนั้นการหยุดสูบบุหรี่  การควบคุมระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตจึงเป็นส่วนสำคัญในการป้องกันโรคแทรกซ้อนเหล่านี้  โดยเฉพาะการควบคุมระดับความดันโลหิตนั้นอาจเป็นประโยชน์มากกว่าการควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีเสียอีก  (ศาตราจารย์ นพ.สาธิต  วรรณแสง, 2550)

                -โรคติดเชื้อ
ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย  โดยเฉพาะถ้ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 250มิลลิกรัมเปอร์เซ็นขึ้นไป  โรคติดเชื้อที่เป็นกันบ่อยในเบาหวาน คือ
วัณโรคปอด  ถ้ามีอาการไอเรื้อรัง  ไข้ต่ำๆ ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้  ควรเอ็กซเรย์เพื่อตรวจหาวัณโรคปอด
บริเวณช่องคลอด  อาจเป็นเชื้อราได้ง่ายทั้งในช่องคลอดและปากช่องคลอด  อาจมีอาการตกขาวคันยิบๆ  ในช่องคลอด   มีผื่นคันบริเวณปากช่องคลอด  เป็นต้น  ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภายในและอาจใช้ยากินหรือยาเหน็บ
ไตอักเสบ  มีอาการไข้หนาวสั่น  ปวดบั้นเอว  ปัสสาวะขุ่นจัด  ต้องพยายามดื่มน้ำให้มาก  และไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
ผิวหนัง 
มักติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายทำให้เป็นฝี  ผิวหนังอักเสบได้บ่อย  หรือติดเชื้อราได้ง่ายตามบริเวณซอกผิวหนังหรือบริเวณอวัยวะเพศ  เมื่อมีอาการคันตามผิวหนังพยายามอย่าเกาเพราะอาจทำให้เกิดแผลและเชื้อโรคเข้าไปได้  และนอกจากนั้นถ้าเกามาก ผิวหนังบริเวณนั้นมักกลายเป็นสีดำไม่หาย                                           (ศาตราจารย์ นพ.สาธิต  วรรณแสง, 2550)

บทสรุป
การรักษาโรคเบาหวานในปัจจุบันประกอบด้วยการควบคุมอาหาร  การออกกำลังกาย  และการรับประทานยา  หรือฉีดยา  ทั้งนี้  ก็เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงกับคนปกติมากที่สุด  การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต้องทำร่วมไปกับการรักษาระดับไขมันในเลือดและการควบคุมระดับความดันโลหิต  ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นส่วนเสริมให้โรคแทรกซ้อนของเบาหวานเกิดได้เร็วขึ้น
เป้าหมายการรักษาเบาหวานเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน  หน้าที่ของแพทย์ผู้ดูแลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ วินิจฉัยโรคแทรกซ้อนแต่เนิ่นๆ  เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอย่างรุนแรง  โรคแทรกซ้อนที่ปัจจุบันรักษาได้ผล เช่น การยิงแสงเลเซอร์ที่เส้นเลือดของจอรับภาพของตาสามารถหยุดอาการผิดปกติของเส้นเลือดได้เป็นจำนวนมาก  การตรวจดูไมโครอัลบูมินในปัสสาวะและการใช้ยาพวกเอซีอี-ไอ (ACE-I,Angiotensin  Converting  Enzyme  Inhibitor)  อาจช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพของไตต่อไป  การใช้ยาพวกอัลโดสรัดักเทสอินฮิบิเตอร์ (Aldose  Reductase Inhibitor, ARI)  อาจช่วยป้องกันการเกิดปลายประสาทเสื่อมได้
ปัจจุบันนี้การศึกษาเบาหวานก็ยังคงต้องมุ่งไปกับการพยายามป้องกันโรคแทรกซ้อนด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดเหมือนคนปกติมากที่สุด  ความสำเร็จเกิดขึ้นด้วยความเพียรพยายาม  ความพยายามจึงจะนำสู่การปฏิบัติเป็นนิจศีลจนกลายเป็นอุปนิสัย  ไม่เกิดความทุกข์ทรมานในการพยายามที่จะควบคุมอาหาร  เพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อนเพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาวเหมือนคนที่ไม่เป็นเบาหวานได้                                                          (ศาสตราจารย์ นพ.เทพ  หิมะทองคำ  และคณะ, 2552)


อ้างอิง
ศาสตราจารย์ นพ.เทพ   หิมะทองคำ  และคณะ. (2552). ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน.  พิมพ์ครั้งที่ กรุงเทพฯ : บริษัทวิทยพัฒน์  จำกัด.
ศาตราจารย์ นพ.สาธิต  วรรณแสง. (2550). มารู้จักเบาหวานกันเถอะ.  พิมพ์ครั้งที่ 12  กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.
โครงการอบรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน  หลักสูตรพื้นฐาน. (2549).  กรุงเทพฯ : หจก.เมตตาก๊อปปี้ปริ้น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น